วันพฤหัสบดีที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555


สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ที่มารูปภาพ : http://personinhistory.exteen.com/images/prabaromtri.png
พระราชประวัติ
      พระบรมไตรโลกนาถ ทรงเป็นโอรสของเจ้าสามพระยา และมีพระมารดาเป็นเจ้าหญิงจากราชวงศ์สุโขทัย ดังนั้นพระองค์จึงมีเชื้อสายของฝ่ายอยุธยา(ราชวงศ์สุพรรณบุรี) และราชวงศ์สุโขทัย เมื่อพระธรรมราชาที่ 4 แห่งราชวงศ์สุโขทัยเสด็จสวรรคต พระบรมไตรโลกนาถเมื่อยังทรงดำรงตำแหน่ง พระราเมศวร พระชนมายุเพียง 7 พรรษา ได้ถูกส่งขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก (ซึ่งเป็นศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยสมัยนั้น) แทน และเมื่อพระราชบิดาสวรรคต พระองค์ก็ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์ของอยุธยาเมื่อพระชนม์ 17 พรรษา
      พระบรมไตรโลกนาถเป็นมหากษัตริย์ที่ทรงมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ในช่วงที่ทรงปกครองอยู่ที่พิษณุโลก พระองค์ได้ดำเนินนโยบายเกี่ยวกับศาสนาแบบฉบับของพระเจ้าแผ่นดินสุโขทัยคือ ตามแบบของพระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับและยกย่องจากฝ่ายราชวงศ์สุโขทัย ในปี พ.ศ. 2008 พระองค์ทรงออกผนวชเป็นเวลา 8 เดือน (ตามรอยพระธรรมราชาที่ 1) และทรงให้มีการบูรณะฟื้นฟูวัด เช่น วัดพระศรีมหาธาตุ อันเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธชินราช อันเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่สุดองค์หนึ่งในเมืองพิษณุโลก และทรงให้มีการก่อสร้างปรางค์ที่ วัดจุฬามณี อันเป็นที่ประทับในระหว่างที่ออกผนวช

พระราชกรณียกิจที่สำคัญ  
1. การรวมอาณาจักรสุโขทัยเข้ากับอยุธยา
      เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นเสวยราชย์ใน พ.ศ. ๑๙๙๑ นั้น ทางสุโขทัยไม่มีพระมหาธรรมราชาปกครองแล้ว คงมีแต่พระยายุทธิษเฐียร  พระโอรสของพระมหาธรรมราชาที่ ๔   ได้รับแต่งตั้งจากอยุธยาให้ไปปกครองเมืองพิษณุโลก ถึง      พ.ศ. ๑๙๙๔  พระยายุทธิษเฐียรไปเข้ากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา  พระราชมารดาของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ปกครองเมืองพิษณุโลกต่อมาจนสิ้นพระ ชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๐๐๖  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้เสด็จไปประทับที่พิษณุโลกและถือว่าอาณาจักรสุโขทัย ถูกรวมเข้ากับอาณาจักรอยุธยานับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
2. ด้านการปฏิรูปการปกครอง
     สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระประสงค์ที่จะดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางหรือ ราชธานี  จึงลดบทบาทของเจ้านายลงและเพิ่มอำนาจให้ขุนนาง  เพื่อป้องกันการแย่งชิงอำนาจจากเชื้อพระวงศ์ เช่น ลดฐานะเมืองลูกหลวง เมืองหลานหลวงลงเป็นเมืองชั้นจัตวาและส่งขุนนางไปปกครองแทนเจ้านาย มีการแยกฝ่ายทหารและพลเรือนโดยใช้ขุนนางตำแหน่งสมุหพระกลาโหมดูแลกิจการฝ่าย ทหาร  สมุหนายกดูแลกิจการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักร ทรงตรากฎมนเทียรบาลขึ้นเพื่อความมั่งคงของสถาบันกษัตริย์  นอกจากนี้ยังทรงตราพระราชกำหนดศักดินา  ได้แก่  พระอัยการตำแหน่งนาพลเรือนและพระอัยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง   พ.ศ. ๑๙๙๘  เพื่อประโยชน์ในการลำดับชั้นของบุคคลว่ามีศักดิ์ สิทธิ์ และอำนาจหน้าที่ต่างกันอย่างไร  เป็นการจัดระเบียบการปกครองให้มีแบบแผนรัดกุมกว่าเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระบรม ไตรโลกนาถ อยุธยาทำสงครามยืดเยื้อกับอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีพระเจ้าติโลกราชเป็นกษัตริย์ (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๙๘๔ - ๒๐๓๐)  ทำให้สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถประทับที่เมืองพิษณุโลกนานถึง ๒๕ ปี  เพื่อดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือและเพื่อความสะดวกในการป้องกันการรุกรานของล้าน นา  ในระยะนี้จึงถือว่าเมืองพิษณุโลกมีฐานะเป็นราชธานีของอาณาจักรอยุธยา
     สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคตใน พ.ศ. 2031  ทรงอยู่ในราชสมบัติ 40 ปี นับว่านานที่สุดในบรรดากษัตริย์อยุธยาทุกพระองค์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น